ลักษณะทั่วไป เป็นแรด ๑ ใน ๒ ชนิดที่พบในประเทศไทย ซึ่งนอกจากกระซู่แล้ว อีกชนิดหนึ่งที่พบคือ แรดนอเดียวหรือแรดชวา (Rhinoceros sondaicus Desmarest) กระซู่เป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๒.๔-๒.๖ เมตร ความสูงวัดที่ระดับไหล่ ๑.๐-๑.๔ เมตร น้ำหนัก ๙๐๐-๑,๐๐๐ กิโลกรัม มีขนสั้นอยู่ทั่วไปซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากแรดชนิดอื่น โดยเฉพาะเมื่อยังเป็นลูกตัวเล็ก ๆ ขนจะยาวและหนา สีน้ำตาลอ่อน โตเต็มวัยขนจะบางลงและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผิวหนังของกระซู่บางกว่าแรดชนิดอื่น บริเวณใต้ตามีรอยย่นเป็นทางยาว รอยพับของหนังปรากฏเป็นแนวชัดที่บริเวณท้ายขากรรไกร คอ โคนขาหน้า รักแร้จนถึงไหล่ และร่องระหว่างท้องต่อกับขาหลัง มีสูตรฟัน ๐-๑/๐-๒ ๐/๐-๑ ๓-๔/๓-๔ ๓/๓ * ๒ = ๒๔-๓๖
กระซู่มี ๒ นอ นอหน้ายาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใหญ่กว่านอหลังมาก แต่ก็ยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับนอของแรดชนิดอื่น นอโค้งไปทางด้านหลังเล็กน้อย ส่วนนอหลังยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร นอหลังของตัวเมียเป็นเพียงปุ่มนูนเท่านั้น หางของกระซู่สั้นและมีขนที่ปลายหางไม่มากนัก
กระซู่มีตาเล็ก สายตาไม่ดี แต่ประสาทดมกลิ่นและการรับฟังดีมาก
กระซู่มักลงปลัก จึงเปรอะเปื้อนดินโคลนอยู่เสมอ เป็นสัตว์ไม่ดุร้าย หากอยู่ตามถิ่นธรรมชาติ ก็จะแอบซ่อนหลบอยู่ตามป่าทึบของบริเวณป่าฝน ออกหากินตามที่โล่งเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ อยู่กันเป็น คู่หรือฝูงเล็ก ๆ ๓-๔ ตัว กินพืช อาศัยอยู่ตามป่าทึบพื้นที่ต่ำซึ่งมีความชื้นสูงและมีแหล่งน้ำตลอดปี เป็นสัตว์รักถิ่น
กระซู่ตั้งท้องนาน ๗-๘ เดือน ตกลูกคราวละ ๑ ตัว ลูกเกิดใหม่มีน้ำหนักประมาณ ๒๕ กิโลกรัม เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ ๓ ปี มีอายุประมาณ ๓๐ ปี
ในประเทศไทยเคยพบกระซู่ชุกชุมในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ จันทบุรี ระนอง กระบี่ และเคยมีรายงานว่า พบกระซู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังพบที่แคว้นจิตตะกองในประเทศบังกลาเทศ พม่า มาเลเซีย เกาะบอร์เนียวและสุมาตรา แต่ไม่ปรากฏว่าพบที่เกาะชวา
เป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย ปัจจุบันไม่เคยพบที่ใด แต่คาดว่ามีเหลืออยู่บ้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ.