ลักษณะทั่วไป แมลงกระชอนในประเทศไทยมีหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในป่า แต่ชนิดที่มักพบเห็นได้บ่อย ๆ ตามแปลงเพาะปลูกทั่วไปใกล้ที่อยู่อาศัยจนเป็นที่คุ้นเคยก็คือ ชนิด Gryllotalpa orientalis Burmeister ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Oriental Mole Cricket แมลงกระชอนชนิดนี้มีลำตัวยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร และอกบริเวณที่กว้างที่สุดประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร มีสีโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาล แต่อาจต่างกันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม หัวมีขนาดเล็ก สันหลังอกปล้องแรกมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้าย สามเหลี่ยมซึ่งเว้าลึกที่ปลายและโค้งมนที่ฐานหุ้มอกปล้องแรกไปจนจดหัว ทำให้ดูคล้ายกับจะคลุมไปถึงหัว ตากลมเล็กสีเข้มกว่าหัวทำให้เห็นตาได้ชัดเจน หนวดยาวปานกลาง ปากเป็นแบบกัดกิน ปีกคู่หน้าเล็ก สั้น มีลายสีน้ำตาล ทำให้ดูคล้ายใบไม้ เมื่อพับปีกจะหุ้มสันหลังไปได้เพียงครึ่งหนึ่งของท้อง ปีกคู่หลังใหญ่กว่าปีกคู่หน้ามาก มีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อปีกบางใสมีแถบสีน้ำตาลทอดตามยาว ๒ แถบ เมื่อพับปีกเข้าหากันจะเป็น ๒ ชายทอดยาวไปตามสันหลังของท้อง ปีกไม่ได้พัฒนาไปในการบินจึงสามารถบินได้ระยะใกล้ ๆ เพียง ๑-๒ เมตร ที่ปลายท้องมีแพนหาง ๑ คู่ ยาวไล่เลี่ยกับหนวด ขาคู่หน้าทำหน้าที่ขุดดินจึงมีรูปร่างลักษณะโดยเฉพาะที่แตกต่างไปจากแมลงอื่น กล่าวคือ ปล้องขาทั้ง ๕ ปล้องมีลักษณะป้อม สั้น โดยเฉพาะปล้องที่ ๔ แบนคล้ายอุ้งมือ ปล้องที่ ๕ มีลักษณะเป็นแฉกปลายแหลมใช้สำหรับขุดดินได้เป็นอย่างดี ขาคู่ที่ ๒ และ ๓ มีลักษณะปรกติเหมือนแมลงทั่วไปใช้สำหรับเดิน วิ่ง หรือกระโดดได้
แมลงกระชอนมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินโดยขุดรูจากรังนอนไปตามทิศทางต่าง ๆ หลายทิศทาง และในบริเวณที่ชื้นแฉะก็จะขุดรูเป็นทางระบายน้ำทำให้น้ำไม่ท่วมขังรังด้วย รังมีลักษณะเป็นโพรง ขนาดเท่าไข่ไก่อยู่ลึกใต้ผิวดิน ๕-๑๐ เซนติเมตร ทำให้สามารถรับไออุ่นจากดินเมื่อมีแสงแดดส่องถึงซึ่งทำให้แมลงกระชอนเจริญเติบโตได้ดี เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ตัวเมียจะผสมและวางไข่หลายครั้งเป็นกลุ่ม ๆ รวมกันแล้วนับร้อยฟอง ไข่แต่ละกลุ่มมีอายุต่างกัน และฟักออกเป็นตัวในเวลาต่างกัน ทำให้ในรังมีตัวอ่อนหลายขนาดอาศัยอยู่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะคอยดูแลทำความสะอาดไข่ด้วยการเลียป้องกันมิให้ราขึ้น โดยปรกติไข่จะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา ๑๐-๒๑ วัน ทั้งนี้จะเร็วหรือช้าแล้วแต่ฤดูกาล ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับแม่รัง แต่ไม่มีปีกให้เห็น และเจริญเติบโตได้โดยกินพืชหรือสัตว์ที่เน่าเปื่อยในดินรวมไปถึงรากพืชที่โผล่เข้าไปในรัง ตัวอ่อนเจริญเติบโตช้ากว่าแมลงทั่วไป และอาจใช้เวลาถึง ๑ ปีก่อนที่จะโตเป็นตัวเต็มวัยโดยผ่านการลอกคราบ ๗-๑๐ ครั้ง เนื่องจากเป็นแมลงมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินจึงอาจก่อความเสียหายต่อพืชที่เพาะปลูกได้จากการทำลายรากโดยเฉพาะในขณะที่พืชยังเล็กอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อโตเป็นตัวเต็มวัยและแข็งแรงแล้วก็มักจับสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน เช่น หนอน และแมลงต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงไส้เดือนตัวเล็ก ๆ กิน ในเวลาเดียวกันแมลงกระชอนก็อาจกลายเป็นอาหารของสัตว์อื่น เช่น นก หนู กระรอกด้วย เพราะเหตุที่แมลงกระชอนมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จึงมีชีวิตรอดพ้นจากศัตรูได้ง่าย และไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนัก ยกเว้นแต่ในฤดูกาลผสมพันธุ์ซึ่งแมลงเหล่านี้จะออกมาหาคู่หรือออกมาเล่นไฟในบริเวณที่มีแสงไฟสว่างจัดในยามค่ำคืน แมลงกระชอนชนิดนี้นอกจากจะพบในประเทศไทยแล้วยังอาจพบได้ในประเทศต่าง ๆ แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนจดภูมิภาคเอเชียใต้.