กระฉง-แมลง

ชื่ออื่น ๆ
แมลงฉง, แมลงสิง, แมลงสิงห์
ชื่อสามัญ
Rice Bug, Paddy Fly

ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงที่มีลำตัวยาวลีบ หัว อก และท้องยาว ด้านข้างของหัวยื่นนูนออก หนวด ๑ คู่ แต่ละเส้นมี ๔ ปล้อง ปล้องแรกหนาเล็กน้อย ปลายงอ เห็นได้ไม่ชัดเจนนัก ปากส่วนที่เห็นได้ชัดมีลักษณะเป็นปลอกยาว แบ่งเป็น ๔ ปล้อง ปล้องที่ ๑ ยื่นเลยตา ปล้องที่ ๒ สั้นกว่าปล้องที่ ๓ และ ๔ รวมกัน มีปีก ๑ คู่ อกปล้องแรกยาวกว่าปล้องอื่น ๆ ทางด้านหน้างุ้มเล็กน้อย ผนังด้านล่างของอกปล้องที่ ๒ เป็นร่องกว้าง
     แมลงกระฉงทุกชนิดเป็นศัตรูทำลายข้าว อาจพบทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยได้ในระยะที่ข้าวออกรวง หรือในระยะที่เมล็ดข้าวยังเป็นน้ำนมอยู่ โดยมันจะดูดน้ำเลี้ยงจากเมล็ดอ่อนของต้นข้าว เป็น ผลให้เมล็ดเหี่ยวและลีบลง รวงเปลี่ยนเป็นสีขาว บางทีก็ดูดน้ำเลี้ยงจากเมล็ดแก่ ทำให้เมล็ดข้าวเป็นจุดหรือรอยด่างดวงสีน้ำตาลหรือดำ ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ตัวอ่อนของแมลงกระฉงต้องดูดกินเมล็ด อ่อนของต้นข้าวจึงจะสามารถมีชีวิตอยู่และเจริญเติบโตได้ ฉะนั้น จึงมักพบแมลงชนิดนี้ระบาดมากในบริเวณที่ข้าวสุกไม่พร้อมกัน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารให้แมลงเหล่านี้เพื่อดำรงชีพและเพิ่มจำนวนตลอดไปได้โดยไม่ขาดรุ่น พืชอาศัยอย่างอื่นนอกจากข้าวแล้ว ก็มีข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างนก ข้าวป้างสามง่าม และหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าตีนกา หญ้ากับแก้ หญ้าปล้อง เนื่องจากตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้นาน ๆ และสามารถบินได้เป็นช่วงสั้น ๆ จึงสามารถแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ง่าย
     แมลงกระฉงชนิดต่าง ๆ มีวัฏจักรชีวิตคล้ายกัน กล่าวคือ ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางวันจนถึงเวลาพลบ ไข่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก กลม แบน สีน้ำตาลแก่ มีขั้วเป็นจุดขาว ตัวเมียวางไข่ไว้ทางด้านบนของใบข้าวหรือใบหญ้าในนาข้าว บางครั้งก็วางทางด้านล่างเกือบถึงปลายใบ เรียงกันเป็นแถว ๑-๓ แถว ไข่กลุ่มหนึ่ง ๆ มีจำนวน ๑๒-๒๐ ฟอง ตลอดชีวิตตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ วางไข่ได้ ๑๐๐-๓๕๐ ฟอง หรือมากกว่า ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนภายในระยะเวลา ๔-๙ วัน แล้วแต่สภาพอากาศ ยิ่งมีอากาศร้อนก็จะยิ่งฟักตัวเร็วขึ้น ตัวอ่อนมีลำตัวสีเขียวอ่อน หนวดและขายาว หลังออกจากไข่ ๓-๔ ชั่วโมง ก็จะดูดอาหารกินได้ ระยะที่เป็นตัวอ่อนใช้เวลา ๒-๓ สัปดาห์ มีการลอกคราบ ๕ ครั้งจึงจะเป็นตัวเต็มวัย การลอกคราบแต่ละครั้งห่างกัน ๒-๕ วันสำหรับตัวอ่อนคราบที่ ๑-๓ และ ๓-๙ วันสำหรับคราบที่ ๔ หรือ ๕ โดยทั่ว ๆ ไปแมลงกระฉงมีวัฏจักรชีวิตจากไข่เป็นตัวเต็มวัยเป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน ตัวผู้จะเริ่มผสมพันธุ์ในทันทีที่ทิ้งคราบตัวอ่อน แต่ตัวเมียจะยังไม่ผสมจนกว่าจะโตเต็มวัยแล้ว ๑-๒ สัปดาห์หรือนานกว่านี้ มักผสมพันธุ์ในตอนเช้า ตัวเมียจะเริ่มวางไข่ในเวลา ๓-๔ วัน ในอัตรา ๑๒-๑๙ ฟองต่อวัน และอาจวางเรื่อย ๆ ไปเป็นเวลานานถึง ๑ สัปดาห์ หรือ ๑ เดือน ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ ๔-๖ เดือนหรือนานกว่านี้
     แมลงเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่ม โยกย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้เมื่อมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีอาหารกิน โดยจะออกบินเป็นกลุ่มโยกย้ายไปสู่ถิ่นที่มีอาหารสมบูรณ์ต่อไป โดยมากมักเคลื่อนย้ายในเวลากลางคืน และอาจพักอยู่ตามแปลงพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารก็ได้ถ้าแหล่ง อาหารอยู่ไกลออกไป ตัวเต็มวัยจะทิ้งตัวลงจากต้นพืชเมื่อถูกรบกวนเช่นเดียวกับมวนอื่น ๆ อีกหลายชนิด
     ในประเทศไทยมีแมลงกระฉงที่มีอยู่แพร่หลาย ๕ ชนิด คือ
     ๑. ชนิด Leptocorisa varicornis Fabricius ลำตัวยาว ๑.๕-๑.๗ เซนติเมตร สีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน ลำตัวด้านบนมีจุดเป็นรูเท่าปลายเข็มกระจายอยู่ทั่วไป ตาสีดำ หนวดปล้องแรกสีเหลือง อมน้ำตาลอ่อน ปล้องอื่น ๆ สีน้ำตาลแก่ โคนสีเหลืองอมน้ำตาล ปล้องแรกและปล้องสุดท้ายยาวไล่เลี่ยกันและยาวกว่าปล้องอื่น ๆ ปล้องที่ ๒ และ ๓ ยาวไล่เลี่ยกัน ปากยาว ปลายจดฐานของขา คู่กลาง ปลายปากสีค่อนไปทางดำ ท้องด้านบนสีเหลืองอมน้ำตาล มีการแพร่กระจายกว้างขวางกว่าชนิดอื่น ๆ คือ มีตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และฟิจิ


     ๒. ชนิด Leptocorisa acuta Thunberg ลำตัวเล็กกว่าชนิดแรกเล็กน้อย คือ ยาว ๑.๓-๑.๕ เซนติเมตร ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน หนวดสีน้ำตาลแก่ โคนปล้อง ที่ ๒, ๓ และ ๔ สีเหลืองอมน้ำตาล สันหลังอกปล้องแรกมีตุ่มเล็ก ๆ ตรงมุมด้านข้างข้างละตุ่ม ตรงกลางมีสันเป็นเส้นเล็ก ๆ พาดตามยาว มีรายงานว่าพบในประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
     ๓. ชนิด Leptocorisa corbetti China ชนิดนี้มีที่สังเกตง่าย คือ มีหนวดปล้องแรกสีน้ำตาลแก่ตลอด แพร่หลายในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     ๔. ชนิด Leptocorisa costalis Herrich-Schäffer หนวดสีดำ พบในประเทศอินเดีย เกาะชวาและบอร์เนียวเป็นส่วนใหญ่
     ๕. ชนิด Leptocorisa oratora Fabricius ลำตัว ขา และหนวดสีน้ำตาลตลอด ท้องอาจมีสีน้ำตาลอมแดง พบแพร่หลายในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     แมลงกระฉง ๒ ชนิดแรกเป็นศัตรูสำคัญของพืชมากกว่าชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีชนิดLeptocorisa geniculata China ซึ่งค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่ในประเทศฟิลิปปินส์.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระฉง-แมลง
ชื่อสกุล
Leptocorisa
ชื่อวงศ์
Alydidae
ชื่ออื่น ๆ
แมลงฉง, แมลงสิง, แมลงสิงห์
ชื่อสามัญ
Rice Bug, Paddy Fly
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf