ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดเล็กที่มักกระโดดโลดเต้นหรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามสุมทุมพุ่มไม้ มักโฉบจับแมลงในอากาศ
นกกระจ้อยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ทำรังลักษณะเป็นรูปถ้วยหรือรูปทรงกลม วางไข่คราวละ ๔-๕ ฟอง ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาฟัก ๑๑-๑๒ วัน ลูกนกสามารถบินได้เมื่ออายุ ๙-๑๐ วัน
ในประเทศไทยมีนกที่เรียกว่า นกกระจ้อย อยู่ ๖ ชนิด คือ
๑. นกกระจ้อยป่าโกงกาง (Gerygone sulphurea Wallace) ขนาดยาวประมาณ ๙ เซนติเมตร ขนบริเวณใกล้หัวตาสีขาว หลังสีเทาแก่ ท้องสีเหลือง พบตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะตามป่าโกงกาง เป็นนกประจำถิ่น
๒. นกกระจ้อยวงตาสีทอง [Seicercus burkii (Burton)] ขนาดยาวประมาณ ๑๑ เซนติเมตร ขนรอบตาสีเหลือง หัวสีเทา มีเส้นสีดำเหนือขอบตายาวถึงท้ายทอย หลังสีเขียวมะกอก ท้องสีเหลือง พบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ เป็นนกอพยพ
๓. นกกระจ้อยแก้มสีเทา [Seicercus poliogenys (Blyth)] ขนาดยาวประมาณ ๑๑ เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายนกกระจ้อยวงตาสีทองแต่ขนรอบตาเป็นสีเทา ข้างหัวสีเทา และที่ปีกมีแถบสีเหลือง พบทางภาคเหนือของประเทศที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เป็นนกอพยพ
๔. นกกระจ้อยกระหม่อมแดง [Seicercus castaniceps (Hodgson)] ขนาดยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ขนหัวสีน้ำตาลแดง ขนรอบตาสีขาว บริเวณส่วนท้ายของลำตัวตรงโคนหางด้านหลัง สีเหลือง ปีกมีแถบสีเหลือง มักอยู่ใกล้พื้นดินตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ ที่ค่อนข้างรกทึบ เคยพบทางภาคเหนือ และภาคใต้ เป็นนกประจำถิ่นที่ค่อนข้างหายาก
๕. นกกระจ้อยคอขาว [Abroscopus superciliaris (Blyth)] ขนคิ้วสีขาวเห็นได้ชัด ขนหัวสีเทา คอสีขาว หลังสีเขียวมะกอก อกและท้องสีเหลือง โฉบจับแมลงกลางอากาศ พบทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นนกประจำถิ่น
๖. นกกระจ้อยคอดำ [Abroscopus albogularis (Horsfield et Moore)] ขนาดยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ขนหัวสีน้ำตาลแดง ขนคิ้วและแก้มสีแดงสด คอสีขาวคาดดำ อกสีเหลือง ท้องสีขาว พบเฉพาะตามป่าเขาสูงทางภาคเหนือ เป็นนกประจำถิ่น
ชนิดที่เป็นนกอพยพจะพบเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น อนึ่ง เฉพาะนกกระจ้อยป่าโกงกาง จัดไว้ในวงศ์ Acanthizidae เดิมอยู่ในวงศ์ Sylviidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gerygone fusca (Gould).