ลักษณะทั่วไป เป็นกลุ่มนกที่จำแนกชนิดได้ยาก อาจใช้วิธีฟังเสียงร้องหรือดูจากลักษณะการกระโดดโลดเต้น รูปร่างเรียวยาว วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๑๐-๑๒ เซนติเมตร ขนสีหม่น ทุกชนิดมีคิ้วยาวสีเทาหรือเหลือง กินแมลงตามสุมทุมพุ่มไม้ ส่วนใหญ่ทำรังเป็นรูปครึ่งวงกลม (domed shape) บนพื้นดินหรือตามพุ่มไม้สูงกว่าพื้นดินเล็กน้อย มีทางเข้าอยู่ข้าง ๆ ตัวเมียทำหน้าที่สร้างรังและกกไข่ ซึ่งปรกติมี ๖-๗ ฟอง ไข่สีขาวบางครั้งมีจุดด่างประปราย ใช้เวลาฟัก ๑๒-๑๓ วัน พ่อและแม่นกช่วยกันป้อนอาหาร ลูกนกเริ่มหัดบินเมื่ออายุ ๑๓-๑๕ วัน
นกกระจิ๊ดมีถิ่นกำเนิดในแถบอากาศหนาวของทวีปยุโรปและเอเชีย ในฤดูหนาวจะอพยพหนีหนาวลงมาทางใต้จนถึงทวีปแอฟริกา
นกกระจิ๊ดที่พบในประเทศไทยมี ๑๖ ชนิด ในจำนวนนี้มี ๒ ชนิด คือ นกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก [Phylloscopus davisoni (Oates)] และนกกระจิ๊ดคอสีเทา [P. maculipennis (Blyth)] ที่เป็นนกประจำถิ่น ส่วนชนิดอื่น ๆ จะพบเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น เช่น นกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ [P .reguloides (Blyth)].