กระจาบ-นก

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดเล็ก วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร เมื่อมองเผิน ๆ จะเห็นเป็นสีน้ำตาลโดยตลอด แต่ถ้าสังเกตจะเห็น หัว หลัง ปีก และหางสีน้ำตาล บริเวณมุมปากผ่านตามาถึงข้างคอสีน้ำตาลเข้ม อกและท้องสีน้ำตาลนวล ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยและอยู่ใน ระยะผสมพันธุ์ขนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ปากสีน้ำตาลเข้มหรือดำ
     นกกระจาบมีปากสั้นแข็งแรง ปลายปากแหลม ใช้จิกดึงเมล็ดพืชจากรวงแล้วขบให้แตกเพื่อกินเนื้อใน นอกจากนั้นยังใช้ฉีกใบหญ้าคา ใบปาล์มต่าง ๆ ฯลฯ เป็นเส้นยาว ๆ เพื่อนำมาทำรัง นกกระจาบอยู่รวมกันเป็นฝูงตามท้องทุ่ง ไร่ และนาข้าว กินเมล็ดพืชและแมลงขนาดเล็ก
     ส่วนมากรังของนกกระจาบสร้างด้วยใบหญ้าคาฉีกเป็นเส้นตามความยาวของใบ นำมาพันร้อย กับกิ่งไม้ ถักสานยึดไปมาอย่างน่าดู และดูเสมือนต้องใช้ความพยายามและอดทนมาก รังหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาสร้างนับ ๑๐ วันจึงแล้วเสร็จ มักพบห้อยระย้าอยู่หลายรังตามต้นไม้ต้นเดียวกันหรือกอเดียวกัน เช่น ต้นก้ามปู ต้นสะแก ต้นมะขามเทศ กอไผ่
     นกกระจาบมีพฤติกรรมการสร้างรังแยบยล ทั้งวิธีสร้าง รูปลักษณะของรัง และการป้องกันภัย จากการสังเกตการสร้างรังของนกกระจาบฝูงหนึ่ง พบว่าตัวผู้เป็นผู้เริ่มสร้างรังซึ่งมีลักษณะคล้ายโคมไฟ เป็นรังเปิดทางด้านล่างบ้าง เป็นรังปิดมีทางเข้าออกเป็นรูบ้าง ตรงกลางรังสานเป็นคอนจับนอน เมื่อนกจับคู่กันแล้ว ตัวผู้และตัวเมียก็จะช่วยกันถักสานรังเดิมต่อเป็นรูปถุงห้อยยาวลงสู่พื้นดิน ความยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เป็นรังปิด ส่วนล่างผายออก ด้านหนึ่งของคอนเป็นแอ่งรังสำหรับวางไข่และเป็นที่อาศัยของลูกนกวัยอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นปล่องยาว ๓๐-๓๕ เซนติเมตร ปากปล่องชี้ลงดิน เมื่อจะเข้ารังนกจะบินลงต่ำแล้วเชิดตัวโผพุ่งเข้าปล่องอย่างรวดเร็ว จากนั้นตัวผู้ก็จะไปสร้างรังเพื่อเป็นที่อยู่ใหม่ และมีโอกาสที่จะจับคู่ใหม่ได้

 


     รังนกกระจาบมีความปลอดภัยสูงกว่ารังของนกอื่น ๆ ในด้านความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ เช่น เป็นรังชนิดคุ้มบนหรือเสมือนมีหลังคาในตัว จึงกันแดดกันฝนได้ ผนังรังป้องกันลมให้ลูกน้อยได้ดี แต่ก็ระบายอากาศได้ ไม่ทึบถึงขนาดอับลม ขั้วรังยึดเหนียวแน่น รังมีน้ำหนักเบา ไกวพลิ้วตัวไปตามลมได้เมื่อมีพายุจึงไม่ขาดหลุดลงมา นอกจากนั้น เมื่อมีศัตรู เช่น เหยี่ยว งู หนู เข้ามาทางปล่อง ก็จะถูกแม่นกจิกปลายจมูกจนต้องถอยหนีไป
     ในประเทศไทยพบนกกระจาบ ๓ ชนิด คือ
     ๑. นกกระจาบอกเรียบ [Ploceus philippinus (Linn.)] บริเวณอกและท้องสีน้ำตาลนวล อกไม่มีลาย พบทั่วทุกภาคและมีจำนวนมากกว่าชนิดอื่น
     ๒. นกกระจาบอกลาย [Ploceus manyar (Horsfield)] ชื่อสามัญ Striated Weaver, Streaked Weaver, Manyar Weaver บริเวณอกและท้องสีน้ำตาลนวล อกมีลายจุดสีน้ำตาล พบทางภาคเหนือและภาคกลาง
     ๓. นกกระจาบทอง [Ploceus hypoxanthus (Sparrman)] ชื่อสามัญ Golden Weaver ในระยะผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีสีเหลืองสดที่คอ อก ท้อง และสะโพก พบเฉพาะทางภาคกลาง.

 

 

ชื่อหลัก
กระจาบ-นก
ชื่อวงศ์
Ploceidae
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.อ.วิโรจน์ นุตพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf